Accessibility Tools

ศาลจังหวัดปราจีนบุรี
Prachinburi Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดปราจีนบุรี

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลยุติธรรม

ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน

และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 21 เมษายน 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง 9.5 ซ.ม.ยาว 37.2 ซ.ม.จำนวน 4 แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ 220 ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ 120 ปี ในปี พ.ศ. 2545สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"

ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

                    

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2478 ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ 100 ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 5 บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2543 จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ประวัติศาลจังหวัดปราจีนบุรี

                     ปราจีนบุรี เดิมสะกดว่า ปราจิณบุรี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการพบซากโบราณสถานในหลายพื้นที่ของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีอุทยานแห่งชาติอยู่ในเขตมรดกโลกถึง    3 แห่ง ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคตะวันออกอีกด้วย แต่เดิมจังหวัดปราจีนบุรี    มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก เนื่องจากในอดีตเคยมีการยุบรวมจังหวัดนครนายกเข้ากับจังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ.2485 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำระหว่างสงคราม ต่อมาในปี พ.ศ.2489 จึงมีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นอีกครั้งอย่างไร      ก็ตาม พื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังคงมีความกว้างใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาในการปกครองและให้บริการประชาชน เนื่องจากบางอำเภออยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติฯ ให้แยกบางอำเภอทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดปราจีนบุรี แล้วรวมกันจัดตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว ในปี พ.ศ.2533 จนถึงปัจจุบัน

                     ศาลจังหวัดปราจีนบุรี เดิมมีชื่อว่า ศาลเมืองปราจีนบุรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นศาลจังหวัดปราจีนบุรี สังกัด สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปราจีนบุรี อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม อำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอศรีมโหสถ มีสถานีตำรวจในเขตอำนาจศาล 6 สถานี ได้แก่ สภ.เมืองปราจีนบุรี สภ.บ้านสร้าง สภ.ประจันตคาม สภ.ศรีมหาโพธิ สภ.ระเบาะไผ่ และสภ.ศรีมโหสถ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีศาลแขวงที่อยู่ในเขตอำนาจศาลด้วย

                     อาคารศาลจังหวัดปราจีนบุรีหลังแรกจะมีความเป็นมาอย่างไร หาหลักฐานไม่พบทราบแต่ว่าเดิมเป็นตึกของนายสำอาง (พระปรีชากลการ ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีในสมัยนั้น) ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางประกง ต่อมาทางราชการได้ดัดแปลงใช้เป็นที่ทำการศาล (ปัจจุบันตัวอาคารหลังแรกได้รื้อดัดแปลงเป็นที่ทำการสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดปราจีนบุรี)  ในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ จึงได้รับงบประมาณก่อสร้างศาลหลังที่สอง ได้เริ่มทำการก่อสร้างและทำพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๘ ตัวอาคารศาลเป็นตึกทรงไทย ๒ ชั้น  ขนาด ๔ บัลลังก์ สร้างในที่ราชพัสดุ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยกให้ศาล เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ตั้งอยู่เลขที่ ๕๕ ตำบลหน้าเมืองอำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วเสร็จในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ ซึ่งเป็นศาลอันสง่างาม สมกับเป็นที่สถิตยุติธรรมในสมัยนั้น

                    ต่อมาด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมและความเจริญอย่างรวดเร็ว ทำให้ศาลจังหวัดปราจีนบุรีมีปริมาณคดีเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกสบาย เนื่องจากสถานที่คับแคบ ห้องทำงาน และห้องพิจารณาพิพากษาคดีไม่เพียงพอ ศาลจังหวัดปราจีนบุรีจึงได้ขอรับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดปราจีนบุรีแห่งใหม่

                    ปัจจุบันศาลจังหวัดปราจีนบุรีได้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการอาคารหลังใหม่มีจำนวน   ๑๔ บัลลังก์พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ อาคารด้านหน้า ๔ ชั้น อาคารด้านหลัง ๓ ชั้น เนื้อที่ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๕๔ ตารางวา ตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่เลขที่ ๒๓๖ หมู่ ๑๑  ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน ๒๓๓,๕๘๗,๐๐๐ บาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๘  ปลูกสร้างแล้วเสร็จและเปิดทำการเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๑ มาจนถึงปัจจุบัน